• 📚 กัณฑ์ที่ ๕๗ สังคหวัตถุ
    May 23 2025

    เริ่มขึ้นแห่งพระสูตรนี้
    ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญจ อตฺถจริยา จ ยา อิธ
    แปลเป็นสยามภาษา ทานการให้ก็ดี พูดวาจาไพเราะก็ดี ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่กันและกันก็ดี ๓ อย่างนี้ เรียกว่า สังคหวัตถุ
    สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ ตตฺถ ตตฺถ ยฺถารหํ
    ความประพฤติตนให้สม่ำเสมอในธรรมนั้นๆ ในบุคคลนั้นๆ ตามสมควร
    เอเต โข สงฺคหา โลเก รถสฺสาณีว ยายโต
    ความสงเคราะห์ในโลกเหล่านี้แล เป็นประหนึ่งว่าลิ่มสลักของรถอันไปอยู่
    เอเต จ สงฺคหา
    ความสงเคราะห์ทั้งหลายเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
    น มาตา ปุตฺตการณา
    มารดา บิดาย่อมไม่ได้รับความนับถือและบูชาเพราะเหตุที่ตนมีบุตร
    ยสฺมา จ สงฺคหา เอเต สมเวกฺขนฺติ ปณฺฑิตา
    เพราะเหตุใด บัณฑิตพิจารณาเห็นซึ่งความสงเคราะห์ทั้งหลายเหล่านี้
    ตสฺมา มหตฺตํ ปปฺโปนฺติ
    เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถึงซึ่งความเป็นใหญ่
    ปาสํสา จ ภวนฺติ เตติ
    บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ที่ควรนับถือด้วยประการดังนี้
    นี่เนื้อความของพระบาลีในสังคหวัตถุ แปลความเป็นสยามให้ความเท่านี้ ต่อจากนี้จะอรรถาธิบาย ขยายความเป็นลำดับไป

    Más Menos
    35 m
  • ถ้าต้องการความเจริญแล้ว ต้องมีความสามัคคี
    May 20 2025

    ถ้าจะมองหาความเจริญ มุ่งความเจริญละก็ต้องมั่นสามัคคี สร้างสามัคคีไว้ ถ้าว่าทำลายสามัคคีแล้วละก็ เป็นอันแตกทะลายแน่ ต้องแยกจากกัน ลูกเต้าก็ต้องแยกไป พี่น้องวงศาคณาญาติอยู่รวมกันไม่ได้ อัตคัตขัดสนขึ้นอีก เพราะความไม่สามัคคีนั้นมันฆ่าเสียแล้วทำลายเสียแล้วนี่แหละตัวอุบาทว์จำไว้เถอะ ที่เขาเรียกว่า บาตรแตกเข้าบ้านละ นี่แหละบาตรแตกเข้าบ้านละ หรือเรียกว่ากาลกิณีอยู่บ้านนี้แหละ


    อ้ายแตกสามัคคีนั่นแหละเป็นตัวกาลกิณี ให้จำไว้เป็นตำรับตำรา ถ้าต้องการความเจริญต้องพร้อมเพรียงซึ่งกันและกัน น้ำหนึ่งใจเดียวกันนั่นแหละจึงจะเจริญได้ เมื่อเมืองเจ้าลิจฉวีถูกพระเจ้าอชาตศัตรูลอยชายเข้าเมืองปกครองเสียแล้ว แตกไปเช่นนี้ เพราะแตกสามัคคี ตามที่พระศาสดาทรงรับสั่งว่า


    บ้านไหน เมืองไหน หมู่ใดพวกใด เขายังมีความสามัคคีกันอยู่ ตราบนั้นเขาก็มีกำลังวังชามาก ทำอันตรายเขาไม่ได้ นี่ต้องอยู่ในความสามัคคีนี้ จำไว้นะ จำไว้เป็นตำรับตำราดังนี้ ไม่งั้นต้องเวียนว่ายตายเกิด มันจะต้องไปบ้านโน้นบ้านนี้ อยู่บ้านโน้นบ้านนี้มา บ้านไหนถ้าแตกสามัคคีกันแล้วละก็มันจะทะลายอยู่แล้ว เดี๋ยวก็ไปทีเดียว


    ถ้าบ้านไหนสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีผู้หลักผู้ใหญ่เกรงกันอยู่ ไม่เป็นไร บ้านนี้ยังเจริญอยู่ ให้จำหลักอย่างนี้นะ วัดก็เหมือนกัน จะไปอยู่วัดใดวัดหนึ่ง ถ้าวัดนั้นไม่สามัคคีอย่าเข้าไปนะ อย่าไป ถ้าไปเป็นได้รับทุกข์ ถ้าสามัคคีกันอยู่ พร้อมเพรียงกันอยู่ละก็เข้าไปเถอะเป็นสุขทีเดียว ให้รู้จักหลักดังนี้ สุขา สงฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข ถ้าว่าไม่พร้อมเพรียงของหมู่เป็นอย่างไร ถ้าเราไปอยู่ซิเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทั้งนั้น

    Más Menos
    4 m
  • 📚 กัณฑ์ที่ ๕๖ การย่อสกลพุทธศาสนาซึ่งมีในพระปาฏิโมกข์
    May 16 2025

    สุโข พุทฺธานุมุปฺปาโท

    สุขา สทฺธมฺมเทสนา

    สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี

    สมคฺคานํ ตโป สุโขติ ฯ


    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วย การย่อย่นสกลพุทธศาสนา ซึ่งมีมาในโอวาทปาฏิโมกข์ สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสทรงเทศนาว่า การ บังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็เป็นสุขนัก การแสดงธรรมของพระองค์เป็นสุข ความพร้อมเพรียงของหมู่ก็เป็นสุข ความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร้าร้อนของท่านผู้พร้อมเพรียงทั้งหลายก็เป็น สุข อีกเหมือนกัน ทั้งสี่ข้อนี้เป็นความสำคัญนัก ซึ่งเราท่านทั้งหลายจงตั้งใจจำไว้ให้มั่นคง จะได้ปฏิบัติตามให้ถูกต้องร่องรอยของพุทธประสงค์สมเจตนาที่ได้เสียสละเวลามา บวชเป็นภิกษุสามเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระบวรพุทธศาสนา ไม่ให้เสียเวลาล่วงไปเสียเปล่าปราศจากประโยชน์ ทำตนของตนให้เป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนาเป็นลำดับไป

    Más Menos
    47 m
  • 📚 กัณฑ์ที่ ๕๕ พุทธอุทานคาถา (ความเปล่งขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่ลึกลับ)
    Sep 5 2024

    ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้แสดงพุทธอุทานคาถา วาจาเครื่องกล่าว ความเปล่งขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่ลึกลับ ผู้แสดงก็ยากที่จะแสดง ผู้ฟังก็ยากที่จะฟัง เพราะเป็นธรรมอันลุ่มลึกสุขุมนัก เพราะเป็นอุทานคาถาของพระองค์เอง ไม่ใช่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งไปทูลถามแต่อย่างหนึ่งอย่างใด พระองค์เมื่อเบิกบานพระฤหทัยโดยประการใด ก็เปล่งโดยประการนั้น ก็เปล่งอุทานคาถาขึ้นเป็นของลึกลับอย่างนี้ เหตุนี้เราเป็นผู้ได้ฟังอุทานคาถาในวันนี้ เป็นบุญลาภอันประเสริฐล้ำเลิศ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปคาถาว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ เพราะมารู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ นี่พระคาถาหนึ่ง ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ เพราะได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย นี้เป็นคาถาที่ ๒ ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรอยู่ วิธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ พราหมณ์นั้นกำจัดมารและเสนาเสียได้ หยุดอยู่ สูโรว โภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ ดุจดังดวงอาทิตยุ์ทัยขึ้นกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น นี้เป็นคาถาที่ ๓ สามพระคาถาด้วยกันดังนี้เพียงเท่านี้ ธรรมะเท่านี้เหมือนฟังแขกฟังฝรั่งพูด ฟังจีนพูด เราไม่รู้จักภาษา ถ้ารู้จักภาษาแขก ภาษาฝรั่ง เราก็รู้ นี่ก็ฉันนั้นแหละ คล้ายกันอย่างนั้น ฟังแล้วเหมือนไม่ฟัง มันลึกซึ้งอย่างนี้ จะอรรถาธิบายขยายเนื้อความคำในพระคาถาสืบไป

    Más Menos
    38 m
  • ศาสนาของพระตถาคตเจ้าสอนอย่างไร
    Sep 3 2024

    สรํ พุทฺธาน สาสนํ ระลึกถึงศาสนาของพระตถาคตเจ้า นี่แหละ สอนให้รู้จักหลักอย่างนี้แหละ
    นี่แหละเป็นหลักฐานของพระศาสนาแท้ๆ ของพระตถาคตเจ้าละ
    ไม่ได้สอนอย่างอื่น สอนให้เห็นธรรมกายเท่านั้น
    ให้เดินทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นลำดับไป
    ให้เข้าถึงกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
    เข้าถึงกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด
    กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด
    กายธรรม กายธรรมละเอียด
    กายโสดา กายโสดาละเอียด
    กายสกทาคา กายสกทาคาละเอียด
    กายอนาคา กายอนาคาละเอียด
    กายอรหัต อรหัตละเอียด
    ตามสายอย่างนี้เรียกว่า ศาสนะ แปลว่าคำสอนของพระศาสดาละ
    รู้จักหลักอันนี้แล้ว ก็พึงปฏิบัติให้มี ให้เป็นขึ้น
    แล้วก็ให้มั่นอยู่ในสันดาน สำเร็จสุข พิเศษ ไพศาลในปัจจุบันนี้และต่อไปในภายหน้า

    Más Menos
    2 m
  • ความเห็นของบุคคลใดตรง นักปราชญ์ราชบัณฑิตย่อมกล่าวว่าบุคคลนั้นไม่จน
    Sep 1 2024

    ๔ ข้อด้วยกัน คือ เชื่อในพระตถาคตเจ้า อย่างหนึ่ง
    ศีลอันดีงามข้อที่ ๒
    เลื่อมใสในพระสงฆ์ ข้อที่ ๓
    เห็นตรง เป็นข้อที่ ๔

    ทั้ง ๔ ข้อนี้แหละ มีอยู่ในสันดานของบุคคลใดแล้ว บุคคลผู้นั้นมีทรัพย์สิน เงินทองมากมายสักเท่าหนึ่งเท่าใด ก็สู้บุคคลผู้มีธรรม ๔ ข้อ ผู้มั่นใน ๔ ข้อนี้ไม่ได้
    วางตำราทีเดียว อริยธนกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภถึงอริยทรัพย์ ว่ามีอริยทรัพย์เดียว ไม่ขัดสนไม่ยากจน เป็นคนมั่งมีทีเดียว นี้แหละทรัพย์ของพระของเณร
    พระเณรมีทรัพย์อย่างนี้ ก็สบายสดชื่นเอิบอิ่มตื้นเต็ม อุบาสกอุบาสิกามีทรัพย์อย่างนี้ ก็เอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ตื้นเต็ม จะมีทรัพย์สักเท่าหนึ่งเท่าใด ก็สะดุ้งหวาดเสียว
    ยิ่งมีเพชรราคาแสนไว้กับตัว ก็สะดุ้งหวาดเสียวเห็นคนแปลกหน้ามา พาสะดุ้งหวาดเสียวกลัวจะมาหยิบเอาเพชรนั่นไปเสีย
    ถ้าว่าความเชื่อในพระตถาคตเจ้า
    มีศีลอันดีงาม
    เลื่อมใสในพระสงฆ์
    เห็นตรง
    อย่างนี้ มีในสันดานของบุคคลใดแล้ว จะมาสักเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่กลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้งเลย เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่าของเหล่านี้อยู่กับใจ
    ธมฺโม นี้ลักไม่ได้ ปล้นไม่ได้ แย่งชิงไม่ได้ เอาไปไม่ได้ เป็นของจริงอยู่อย่างนี้

    Más Menos
    3 m
adbl_web_global_use_to_activate_T1_webcro805_stickypopup